ปรับชีวิต ยิ่งใหญ่ยิ่งเล็ก

 

ปรับชีวิต

ปรับชีวิต

โรคภัยหลายอย่างถ้าเราไปมองให้มัน เป็นเรื่องใหญ่มันก็ดูใหญ่ครับ แต่ครั้นเมื่อมันเกิดเหตุใหญ่ขึ้นมาจริงก็จะยิ่งตกใจเพราะการมองว่าใหญ่เต็ม ที่เสียแล้วก็เป็นเหมือนกับการสร้างมาตรการให้ตัวเองกริ่งเกรงไว้ก่อนผวาตั้งแต่ยังไม่เจอของจริง

เข้าทำนองยิ่งพูดยิ่งสะกดจิตตัวเอง ความเกรงโรคและสิ่งที่ไม่เห็นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปอยู่แล้ว  ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะ “คิดใหญ่” เข้าไว้ การคิดโดยไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงจะยิ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนใจ ขึ้น  บางครั้งความคิดนั้นกลายเป็นยาพิษกลับมาทำร้ายตัวเอง

การเล็งผลเลิศของคนเราเป็นสิ่งที่ทำได้จริงอยู่ครับ แต่ในบางครั้งการที่เราทำโดยไร้แรงกดดันก็ได้ผลเลิศเช่นกันแถมเหนื่อย (ใจ) น้อยกว่าด้วย เช่นเดียวกับของ 3 อย่างคือ ชื่อเสียง เงินทองและอำนาจ ที่อาจบันดาลความทุกข์ให้แก่ผู้ที่อยากมีมันได้  ถ้าอยากได้ต้องไม่ไขว่คว้าครับ  ทำในสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด  และสุขในสิ่งที่มีอยู่ให้ได้มาก  หากทำได้จริงแล้วถึงเวลาเขาจะพากันมาเองครับ  ความลับก็คือว่ายิ่งอยากน้อยยิ่งเป็นสุข Less is more ครับ

ยิ่งน้อยยิ่งดี มีอะไรบ้าง?

ในตัวเราก็มีสิ่งที่ยิ่งโตขึ้นอายุมากขึ้นก็ยิ่งเล็กลง ได้แก่ ต่อมทอนซิล, ต่อมอะดีนอยด์และต่อมไทมัสในช่องอกเป็นตัวอย่าง  ธรรมชาติสอนให้เราปล่อยวางเช่นนี้ถ้ารู้จักมอง

เพราะ “ความอยาก” เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ ใครที่หยุดอยากได้ก็จะตัวเบาสบายไปเป็นลำดับขั้น ฆราวาสอย่างเรา ถ้าค่อยๆ ลดลงในเรื่องต่อไปนี้แล้วจะมีสุขบ่อย แม้มีทุกข์มาก็จะไม่ค่อยหนักนัก

1) อาหารการกิน การกินน้อยลงสัก 20% แบบชาวโอกินาวา หรือกินแบบให้ “หิวนิดๆ” จะช่วย “ปลุก” ต่อมสมองได้ดีกว่าการกินแบบอิ่มปลิ้นกินเต็มคราบ รูปแบบการรับประทานอาหารที่น้อยแล้วดีนี้เพิ่งมีในงานวิจัยเมื่อไม่นาน โดยการกินแบบนี้ต้องมีหลักคือ แคลอรีน้อยแต่ได้วิตามินครบ เข้าทำนอง “อ้วนน้อย แต่ไม่ด้อยวิตามิน”

2) ยาพิษ ลดให้น้อยลงอีกสักหน่อย อย่าปล่อยให้มีบทบาทในชีวิตจนชีวิตขึ้นอยู่กับมันครับ เช่น เหล้า, บุหรี่, ชาและน้ำหวาน เพราะการได้อาหารพิษเหล่านี้มากมีผลต่ออารมณ์ทำให้หงุดหงิดง่าย  เกิดการอักเสบตามร่างกาย  เป็นความทุกข์ทรมานที่หามาทานด้วยตัวเอง

3) นอนดึก การนอนดึกขอให้น้อยลงไม่ว่าจะวัยไหนครับ  แม้จะรู้สึกว่าถึงวัย “นอนน้อย” แล้วแต่ก็ไม่ใช่เช่นนั้นเพราะการนอนเกี่ยวข้องกับต่อมใต้สมองที่สำคัญคือ “ไพนีล (Pineal gland)” ที่จะสร้างเคมีง่วง (Melatonin) ออกมาตามเวลา ถ้าเรานอนผิดเวลาตามใจตัวเองไปมันก็จะไม่หลั่งยิ่งทำให้นอนผิดปกติไปมากขึ้น ครับ

4) ตัวตน เป็นของอย่างสุดท้ายที่คนควรจะลดให้เหลือยิ่ง น้อยยิ่งดี คนที่มีตัวตนน้อยจะสุข “มาก” ครับ เพราะมันเป็นของหนักที่ฉุดดีกรีความสุขให้ตกลงมา ลองนึกดูว่าถ้าทุกคนนึกถึงตัวตนเป็นหลักหมดจะเกิดอะไรขึ้น ประเทศจะกลายเป็นสังคมอุดมความเครียดเพราะแข่งกัน ลูกหลานเราก็จะฟาดฟันกันโดยไม่นึกถึงความถูกต้อง เพราะตัวเองคือความถูกต้องที่สุด

ว่าไปเป็นเรื่องน่าเห็นใจมากกว่าขัดใจครับเวลาเจอคนที่ “เยอะ” ไปเสียทุกเรื่อง เพราะผู้ที่ไม่รู้จัก “น้อยนั้นงาม” ก็เหมือนคนที่แบกโลกเอาไว้เกะกะ จะเดินไปไหนก็ไม่สะดวก คนที่คิด คนที่เห็นโลกเยอะจะรู้ว่าความสุขที่แท้จริง คือ “ความเรียบง่าย” ไม่ใช่สุขประดิษฐ์ที่ต้อง “เยอะ” จนปวดหัว คนที่คิดเป็นจะยิ่งใหญ่ยิ่งเล็กครับเพราะเข้าใจโลกว่าที่สุดแล้วไม่ว่าจะเคย เยอะหรือน้อยมาก็ต้องพากันน้อมกลับสู่สามัญ ทุกชีวิตไปหยุดกันที่ “จิตกาธาน”

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

Advertisement

No comments yet... Be the first to leave a reply!

Leave a Comment

 

— required *

— required *