ชุมเห็ดไทย ช่วยให้นอนหลับสงบ ขับระบาย แก้กลากเกลื้อนได้ดี Foetid Cassia | PG&P
ชุมเห็ดไทย หรือ Foetid Cassia ไม้พุ่มต้นเล็กๆ ที่มักขึ้นแทรกตามดงหญ้าข้างทาง จึงมักถูกดายทิ้งไปพร้อมหญ้า น้อยคนนักที่จะรู้ว่าชุมเห็ดไทยเป็นยาช่วยให้นอนหลับและช่วยสงบประสาทได้ เป็นอย่างดี
ชุมเห็ดไทยเป็นพืชในวงศ์ Leguminosae (Caecalpinoideae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าSenna tora (L.) Roxb. ตามท้องถิ่นต่างๆ มักเรียกชื่อแตกต่างกันไป อาทิ ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก (ภาคกลาง) พรมดาน (สุโขทัย) ลับมือน้อย (ภาคเหนือ) หญ้าลึกลืน (ปราจีนบุรี) กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นไม้ทรงพุ่มตั้งตรง ลำต้นสีเขียวอมน้ำตาลแดง ไม่มีขน ใบเรียงตัวแบบขนนกปลายคู่ ใบย่อยรูปไข่กลับ โคนใบแหลม ปลายใบแหลมแบบติ่งหนาม ไม่มีขน ผิวใบสีเขียวเข้ม นุ่ม หน้าใบไม่มีขน หลังใบมีขนละเอียดปกคลุมหนาแน่น ขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย
ดอกชุมเห็ดไทย ออกที่ซอกใบ เป็นกระจุก ดอกเดี่ยวมีก้านช่อดอกออกจากจุดเดียวกัน ผลออกเป็นฝักและเป็นเส้นโค้งเล็กน้อย และจะแบนทั้งสองด้าน จะปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่มสั้นๆ ภายในฝักนั้นจะมีเมล็ดประมาณ 20-30 เมล็ด เมล็ดจะเป็นรูปทรงกระบอกแบนเล็กน้อย ผิวนอกจะเรียบเป็นมันสีเขียวออกน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพืชที่ปลูกง่าย ขึ้นได้ทั่วไปในดินทุกชนิด ปลูกได้ตลอดทั้งปี ไม่ชอบที่ร่ม ปลูกโดยการเพาะกล้าก่อน
ในตำรายาไทยได้บันทึกถึงสรรพคุณการใช้ประโยชน์ของส่วนต่างๆ ไว้ คือ ใบ รสเมา เป็นยาระบาย เมล็ด รสขมเมา รักษาโรคผิวหนัง แก้กระษัย ขับปัสสาวะ แก้ตาแดง ตามัว ขับอุจจาระ แก้ตับอักเสบ ตับแข็ง บำรุงกำลัง รู้ถ่ายรู้ปิดเอง ลดความดันเลือดชั่วคราว คั่วชงน้ำกินบำรุงประสาท แก้นอนไม่หลับ บดผสมน้ำมันพืชทาแก้หิด กลากเกลื้อน ทั้งต้น รสเมา แก้ไข้ ขับพยาธิในท้อง แก้ไข้หวัด กล่อมตับ ทำให้ตาสว่าง
ข้อมูลการวิจัยพบว่า ในเมล็ดและใบมีสารพวก anthraquinone หลายชนิด มีคุณสมบัติช่วยให้เกิดการขับถ่าย และในเมล็ดมีกรดครัยโซเฟนิค (chrysophanic acid 9 inthrone) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง โดยมีการทดลองทางคลินิกทั้งของไทยและจีน พบว่า สารสกัดจากเมล็ดด้วยน้ำ มีผลต่อการลดความดันเลือด
วิธีการนำไปใช้ประโยชน์ สามารถทำได้หลายวิธี ช่วยได้ทั้งในเรื่องของการนอนหลับการขับถ่ายเมื่อเกิดภาวะท้องผูกและกลาก เกลื้อนและโรคผิวหนังก็ใช้ได้เหมือนกับชุมเห็ดเทศ
- ช่วยให้นอนหลับ และใช้เป็นยาระบาย โดยใช้เมล็ดชุมเห็ดไทย คั่วให้ดำเกรียมเหมือนเมล็ดกาแฟ แล้วทำเป็นผง ชงน้ำร้อนอย่างปรุงกาแฟ ดื่มหอมชุ่มชื่นใจดีไม่ทำให้หัวใจสั่น กรณีใช้ดื่มต่างน้ำจะทำให้ง่วงนอนและนอนหลับได้ดี และแก้กระษัยขับปัสสาวะพิการได้ดี
- ใช้แทนยาระบายอ่อนๆ ใช้ใบหรือทั้งต้นประมาณ 1 กำมือ 15-3 กรัม เมล็ด 1 หยิบมือ 5-10 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เติมกระวาน 2 ผล เพื่อกลบรสเหม็นเขียวและเกลือเล็กน้อยดื่มก่อนอาหารเช้าส่วนเมล็ดคั่วให้ เหลือง ใช้ชงเป็นน้ำชาดื่ม
- ลดความดันเลือด ใช้เมล็ดแห้ง 30 กรัม คั่วให้หอม ชงกินแทนน้ำชา
- ใบสดใช้พอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้นพอกโรคแก้เกาต์ (Gout) ปวดสะโพก ปวดขา ปวดข้อ แก้โรคกลาก หิด ผื่นคันต่างๆนอกจากนี้ใบเคี่ยวน้ำมันละหุ่ง ทาแก้แผลเรื้อรัง
- แก้กลากเกลื้อน ใช้ใบย่อย 10-20 ใบสดๆ ตำให้ละเอียด ผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ทา กลากเกลื้อนวันละสองสามครั้ง
- ราก ตำให้ละเอียดผสมน้ำปูนใส พอกแก้กลาก
สมุนไพรที่เราไม่รู้จักก็มักจะไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ ไม้ประเภทหญ้าหรือวัชพืชจึงมักถูกตัดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย อยากให้คนไทยช่วยกันศึกษาเรื่องต้นไม้ใบหญ้าให้มากๆแล้วจะได้รู้จักประโยชน์ และสรรพคุณเพื่อจะได้ช่วยกันต่อยอดการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรเพื่อ การพึ่งตนเองได้อย่างปลอดภัยและใช้ทรัพยากรใกล้มือหรือที่มีอยู่ใกล้ตัวให้ เกิดประโยชน์ได้อย่างจริงจัง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
No comments yet... Be the first to leave a reply!